Home : Green Story : Food

นมผึ้ง (Royal Jelly) คุณค่าบรรณาการสูงสุดแด่ราชินีผึ้ง

นมผึ้งมีชื่อเรียกต่างๆ กันหลายชื่อ ได้แก่ อาหารวุ้น วุ้นทิพย์ หรือควีนเยลลี่ (QUEEN JELLY) เป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนของผึ้งและราชินีผึ้ง มีลักษณะสีขาวคล้ายนมข้นหวาน กลิ่นออกเปรี้ยวๆ และรสค่อนข้างเผ็ดเล็กน้อย



นมผึ้งนี้ผลิตโดยผึ้งงานจากต่อมที่อยู่บริเวณส่วนหัว คือ ต่อมไฮโปฟารินเอลและต่อมแมนดิบิวลาร์ (HYPOPHARYNGEAL AND MADIBULAR GLAND) ผึ้งงานจะผลิตนมผึ้งเพื่อเลี้ยงตัวอ่อนของผึ้งทุกชนิดที่มีอายุไม่เกิน 3 วัน เฉพาะผึ้งที่เป็นผึ้งราชินีเท่านั้นที่จะได้รับนมผึ้งตลอดชีวิต เนื่องจากจำเป็นจะต้อง ได้รับโปรตีนตลอดเวลาเพื่อใช้ในการผลิตไข่ นมผึ้งนี้นับเป็นอาหารสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ราชินีผึ้งตัวโตที่สุด และอายุยืนที่สุดในรังคือ มีอายุประมาณ 3-5 ปี ในขณะที่ผึ้งชนิดอื่นๆ มีอายุเพียง 2-6 เดือนเท่านั้น โดยปกติราชินิผึ้งที่สมบูรณ์จะวางไข่วันละ 1,500-2,000 ฟอง

นักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้ทำการศึกษาองค์ประกอบในนมผึ้งเป็นเวลานานกว่า 100 ปีมาแล้ว พบว่าในนมผึ้งมีสารอาหารต่างๆ มากมาย ได้แก่
คาร์โบไฮเดรต    10-12%
โปรตีน        14-15%
ไขมัน            3-5%
เถ้า            1 -2%
นํ้า            57-60%

วิตามิน (ในนมผึ้ง 1 กรัม)
-ไธอามีน (วิตามินบี 1)    6.6 ไมโครกรัม
-ไรโบฟลาวิน (วิตามินบี 2)    8.2 ไมโครกรัม
-ไพริด็อกซิน (วิตามินบี 6)    2.4 ไมโครกรัม
-ไนโคไธนามัย            59.0 ไมโครกรัม
-ไบโอติน                1.7 ไมโครกรัม
-อินนอซีทอล            100.0 ไมโครกรัม
-โฟลิคแอซิด            0.2 ไมโครกรัม
-แพนโทเธนิคแอซิด        89.0 ไมโครกรัม

อย่างไรก็ตาม ส่วนประกอบของนมผึ้งจะมีความแตกต่างกันทุกวัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์ที่เก็บนมผึ้งมาและอายุของผึ้งงานที่ผลิตนมผึ้ง ถ้าเก็บนมผึ้งจากเซลล์ของผึ้งนางพญาจะมีวิตามินสูง โดยเฉพาะไนโคไธนามัย (NICOTINAMIDE) และแพนโทเธนิค แอซิด แต่ปกตินมผึ้งที่ผลิตจำหน่ายจะนำมาจากเซลล์ที่เลี้ยงตัวอ่อนในวันที่ 3



คุณประโยชน์ของนมผึ้ง
นมผึ้งเป็นอาหารเสริมสุขภาพที่ประกอบด้วย โปรตีน วิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแล้วว่าในนมผึ้งมีกรดอะมิโนที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ถึง 20 ชนิด นอกจากนี้ยังมีกรดแพนโทเธนิคที่ยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้แน่ชัดและท้าทาย ความสามารถของนักวิทยาศาสตร์อีกร้อยละ 2.84

ผลทางเภสัชวิทยาของนมผึ้งมี รายงานการค้นคว้ามากมาย เช่น เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย กระตุ้นเนื้อเยื่อให้เจริญเติบโต เป็นยาอายุวัฒนะ มีผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อซึ่งมีหน้าที่ปรับสมดุลของร่างกาย ซึ่งจะทำให้ร่างกายฟื้นคืนสมรรถนะและสามารถทำงานได้อย่างปกติ เช่น สารพวกเป็ปไทด์มีฤทธิ์คล้ายอินซูลิน มีฤทธิ์กระตุ้น ต่อมไทรอยด์ให้สามารถรับไอโอดีนได้มากขึ้น ลดการแข็งตัวของหลอดเลือดจากไขมัน และคอเลสเตอรอล นอกจากนี้นมผึ้งเข้มข้น 7.5มิลลิกรัม/ลิตร สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของโคลิบาซิลลัส (COLIBACILLUS) และสเตฟิโลค็อกคัส (STAPHYLOCOCCUS) เป็นต้น

สิ่งที่น่า สังเกตคือ ถ้านำนมผึ้งมาเก็บไว้โดยการแช่แข็งจะทำให้สูญเสียคุณสมบัติไป แต่คุณค่านั้นจะทำให้กลับคืนมาได้โดยการเติมฟรุคโตสและกลูโคส (ซึ่งมีอยู่ในนํ้าผึ้ง) เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าจะรับประทานนมผึ้งก็ควรจะรับประทานไปพร้อมกับนํ้าผึ้ง ตัวอย่างเช่น ในอิสราเอลจะจำหน่ายนมผึ้งโดยผสมกับนํ้าผึ้ง โดยใช้นมผึ้ง 6 กรัมผสมกับน้ำผึ้ง 130 กรัม

จากรายงานต่างๆ ของประเทศที่เจริญก้าวหน้าทางวิทยาการยืนยันว่า นมผึ้ง เป็นอาหารธรรมชาติที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก โดยเฉพาะผลทางเภสัชวิทยา สามารถจะบริโภคได้จำนวนมากและตลอดไป โดยจะไม่เกิดปฏิกิริยาแทรกซ้อนหรือทำให้ร่างกายผิดปกติแต่อย่างใด ตรงกันข้ามถ้าได้บริโภคเป็นประจำ โดยเฉพาะการบริโภคนานกว่าครึ่งปีขึ้นไปแล้วจะได้ผลดีมากเป็นพิเศษ การเจริญเติบโตเป็นไปด้วยดีร่างกายมีพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ การบริโภคเป็นประจำติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นวิธีที่ถูกต้องและให้ผลสมบูรณ์ ที่สุด


การผลิตนมผึ้งในบางประเทศ
ในที่นี้จะขอตัวอย่างการผลิตนมผึ้ง ของประเทศที่มีการเลี้ยงผึ้งในลักษณะอุตสาหกรรมอย่างเป็นลํ่าเป็นสัน ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ทั้งนี้เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตนมผึ้งในประเทศเหล่า นี้

การผลิตนมผึ้งในประเทศญี่ปุ่น
ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้งในประเทศญี่ปุ่นดูเหมือนจะล้ำหน้าไปไกล กว่ากลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกด้วยกัน ญี่ปุ่นมีศูนย์วิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องผึ้งอยู่หลายแห่ง ที่สำคัญ ได้แก่ สถาบันวิจัยและค้นคว้าผึ้งที่เมืองชิบะ (CHIBA) ปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงผึ้งในประเทศญี่ปุ่นทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ครอบครัว มีผึ้งอยู่ในครอบครองทั้งสิ้นราว 300,000 รัง สามารถผลิตนํ้าผึ้งได้ราวปีละ 7,500 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ จึงต้องสั่งซื้อนํ้าผึ้งจากต่างประเทศอีกไม่น้อยกว่าปีละ 20,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท

ญี่ปุ่นเริ่มผลิตนมผึ้งอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2512 โดยมีวิธีการผลิตคล้ายคลึงกลุ่มประเทศตะวันตก ปริมาณนมผึ้งที่ผลิตได้ต่อรังอยู่ระหว่าง 300-500 กรัมต่อปี ได้ผลผลิตรวมปีละ 12-17 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 68 ล้านบาท ในขณะที่ความต้องการภายในประเทศสูงถึง 60 ตันต่อปี ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงต้องนำเข้านมผึ้งจากต่างประเทศอีก

ประมาณปีละไม่น้อยกว่า 40 ตัน คิดเป็นมูลค่า 160 ล้านบาท นมผึ้งที่ญี่ปุ่นผลิตได้จะถูกเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส ซึ่งโดยวิธีนี้สามารถรักษาคุณภาพของนมผึ้งให้คงอยู่ได้นานถึง 3 ปี


การ ผลิตนมผึ้งในไต้หวัน
ไต้หวันมีสภาพภูมิอากาศตลอดจนพืชผักผลไม้ใกล้เคียงกับประเทศไทยมาก อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนโดยตรงจากหน่วยงานของ รัฐ เป้าหมายของรัฐบาลได้แก่การเพิ่มผลผลิตภาคเกษตร ส่วนน้ำผึ้ง นมผึ้ง ขี้ผึ้ง และเกสรดอกไม้ เป็นเพียงผลพลอยได้ที่มีมูลค่ามหาศาลเท่านั้น

ใน ไต้หวันมีการเลี้ยงผึ้งทั้งระดับชาวบ้านและอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ประมาณ 70,000 รัง มากกว่าร้อยละ 90 เป็นผึ้งโพรงพันธุ์ตะวันตก มีเพียงร้อยละ 2-5 เท่านั้น ที่ยังคงเลี้ยงผึ้งโพรงพันธุ์พื้นมืองชนิดเดียวกับที่เลี้ยงกันอยู่ใน ประเทศไทย ปริมาณนํ้าผึ้งที่ผลิตได้โดยเฉลี่ยรังละ 30 กิโลกรัมต่อปี ผลผลิตรวมทั้งประเทศประมาณ 2 พันตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 80 ล้านบาท มีการผลิตนมผึ้งในเชิงการค้าอยู่ประมาณร้อยละ 7 ของจำนวนผู้เลี้ยงทั้งหมดเท่านั้น ปริมาณนมผึ้งที่ผลิตประมาณ 500-800 กรัมต่อรังต่อปี หรือเท่ากับผลิตผลรวมปีละ 80 ตัน คิดเป็นมูลค่า 320 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเกินกว่าความต้องการของตลาดภายในประเทศ ดังนั้น ผลผลิตส่วนเกินประมาณร้อยละ 50 จะถูกส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งสามารถนำเงินตราต่างประเทศไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท

การผลิตนมผึ้งใน ประเทศเกาหลีใต้
อุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้งในประเทศเกาหลีใต้ดูจะไม่มีบทบาทอะไรนักในสายตาของชาว ต่างชาติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรัฐบาลได้ใช้มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมประเภทนี้ โดยห้ามทั้งการนำเข้าและส่งออกทั้งน้ำผึ้งและผลผลิตเกี่ยวเนื่องทุกชนิด แต่โดยแท้จริงแล้วการเลี้ยงผึ้งในเกาหลีใต้มีการพัฒนาไม่น้อยกว่า 10 ปีแล้ว

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งของเกาหลีใต้ดำเนินการอยู่ในรูปของกลุ่มและสหกรณ์ โดยอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มผู้เลี้ยงระดับชาวบ้าน ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 9,000 ครอบครัว มีบางส่วนเท่านั้นที่ยังคงเลี้ยงผึ้งพันธุ์พื้นเมือง เลี้ยงกันเพียงครอบครัวละ 5-10 รังเท่านั้น ไม่มีการเคลื่อนย้าย ผลผลิตนํ้าผึ้งเฉลี่ยประมาณรังละ 20 ลิตรต่อปี อีกประเภทหนึ่งเป็นการเลี้ยงแบบอาชีพ ผู้เลี้ยงประเภทนี้เลียนแบบและพัฒนาการเลี้ยงมาจากญี่ปุ่นและไต้หวัน โดยดัดแปลงอุปกรณ์บางอย่างให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น ครอบครองผึ้งตั้งแต่ 100 ถึง 500 รัง มีอยู่ทั้งหมด 1,000 ราย ผลผลิตนํ้าผึ้งโดยเฉลี่ยรังละ 30 ลิตรต่อปี

การผลิตนมผึ้งในเกาหลีใต้บาง ส่วนยังถือเป็นความลับอยู่ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการหมดโอกาสที่จะเรียนรู้หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ โลกภายนอก อุตสาหกรรมผลิตนมผึ้งจึงอยู่ในสภาพล้าหลัง ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้ผลิตนมผึ้งส่วนใหญ่ก็สามารถทำได้ประมาณรังละ 30 กรัมต่อปี ผลผลิตรวมประมาณปีละ 30 ตัน คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 120 ล้านบาท คาดว่าถ้าอุตสาหกรรมผลิตนมผึ้งได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลแล้ว จะมีบทบาทในทางการค้าไม่น้อยกว่าโสมเกาหลีทีเดียว


กรรมวิธีการผลิตนมผึ้ง
การ ผลิตนมผึ้งในขั้นอุตสาหกรรมนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เทคนิคและวิชาการขั้นสูง ดังนั้น ขีดความสามารถในการผลิตจึงอยู่ในวงจำกัด ซึ่งรายละเอียดของกรรมวิธีการผลิตนมผึ้งพอจะสรุปได้ดังนี้
1. นำคอนผลิตนมผึ้งที่ได้ติดถ้วยไว้ครบตามความต้องการใส่ลงไปในรังเลี้ยงตรง ช่องที่กำหนดทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้ผึ้งในรังคุ้นเคยกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในรังต่อไป

2. วันรุ่งขึ้น (หรือวันถัดไป) นำคอนผลิตที่ใส่ไว้ออกมา เพื่อย้ายหนอนผึ้งลงไปในคอนผลิต (การย้ายครั้งแรกควรรองก้นถ้วยที่ใช้ผลิตด้วยนมผึ้งเล็กน้อย) อายุของหนอนผึ้งที่เหมาะสมสำหรับการย้ายลงถ้วยผลิต คือ 12-10 ชั่วโมง (หรือเล็กที่สุดเท่าที่ตาเปล่ามองเห็น) เมื่อได้ย้ายหนอนผึ้งลงครบทุกถ้วยในคอนผลิตแล้ว นำคอนผลิตใส่กลับไปยังรังเดิม แล้วเลี้ยงนํ้าหวาน นํ้าตาล และนํ้า ในอัตราส่วน 1 : 1 ประมาณ 300-500 กรัม (หรือสังเกตดูตามความเหมาะสม) ปิดฝารังเลี้ยง

3. เมื่อครบ 72 ชั่วโมง หรือ 3 วันหลังจากย้ายหนอนผึ้งลงไว้ ยกคอนผลิตออกจากรังเลี้ยง ปัดผึ้งที่ติดคอนออกให้หมด ตัดไขผึ้งที่ผึ้งงานสร้างต่อจากขอบถ้วยพลาสติกออก คีบตัวหนอนผึ้งที่ลอยอยู่บนนมผึ้งออกให้หมด ใช้ไม้หรือเหล็ก หรือเครื่องดูด ตักนมผึ้งออกจากถ้วยให้หมด ใส่ลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เก็บสะสมไว้ในตู้แช่แข็งตลอดเวลาต่อไป ส่วนคอนที่ได้ตักนมผึ้งออกหมดแล้วก็ใช้ผลิตได้อีก โดยย้ายหนอนผึ้งลงในถ้วยแล้วนำกลับใส่ไว้ในรังดังข้อ 2.

4. หลังจากย้ายหนอนผึ้งลงผลิตได้ 2 ครั้ง คือ 6 วัน ควรย้ายสับเปลี่ยนเอาคอนดักแด้แก่จัดที่ออกเป็นตัวโตเต็มวัยหมดแล้วกลับไปใน ช่องที่มีผึ้งแม่รังอยู่ เพื่อให้ผึ้งแม่รังได้ใช้ไข่ต่อไป พร้อมทั้งย้ายเอาคอนดักแด้ที่แก่จัดที่จะออกหรือออกเป็นตัวมาไว้ยังช่องผลิต นมผึ้ง สับเปลี่ยนกันเช่นนี้ ส่วนการผลิตแบบซ้อนรังก็เปลี่ยนเอาคอนหนอนอ่อนปนหนอนแก่ หรือหนอนปนดักแด้ขึ้นมาแทน ปฏิบัติเช่นนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวตลอดการผลิต


อย่างไรก็ตาม การผลิตนมผึ้งในลักษณะอุตสาหกรรมจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ประกอบดังนี้
1. ความยากอยู่ที่การย้ายหนอนผึ้งลงถ้วยผลิต จะต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญจริงๆ จึงจะย้ายขนาดของหนอนได้สมํ่าเสมอเท่ากัน และย้ายด้วยความรวดเร็ว รวมไปถึงเปอร์เซ็นต์การรับสูง ซึ่งหมายถึงหนอนผึ้งไม่บอบชํ้า
2. การผลิตโดยอาศัยหนอนผึ้งขนาดเล็กอายุ 12-18 ชั่วโมง จะได้ปริมาณนมผึ้งมากกว่าใช้หนอนผึ้งตัวโต เพราะหนอนตัวโตกินจุกว่า
3. ความชื้นสัมพัทธ์ในบรรยากาศสำคัญกว่าอุณหภูมิในรัง ทั้งนี้เพื่อให้ตัวหนอนมีอายุรอดได้
4. แสงสว่างเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการผลิต เนื่องจากจะช่วยให้มองเห็นตัวหนอนชัดเจนขึ้น
5. หลังจากย้ายหนอนลงถ้วยผลิตครบเสร็จแล้วควรย้ายลงรังเลี้ยงเร็วเท่าที่จะกระทำได้
6. การย้ายหนอนลงถ้วยผลิตกลางแจ้ง อาจพบปัญหาผึ้งมาปล้น ซึ่งกัได้โดย การกางมุ้ง หรือย้ายเข้าไปทำในห้องที่มีมุ้งลวดกั้น
7. การเก็บนมผึ้งจะต้องเก็บเมื่อนำเซลล์ที่ใส่หนอนตัวอ่อนลงไปแล้ว 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ได้นมผึ้งสูงที่สุด เป็นช่วงที่ตัวหนอนผึ้งกินจุมากที่สุด จากการศึกษาพบว่า หลังจากใส่ตัวหนอนลงไปในเซลล์แล้ว โดยแต่ละเซลล์จะมีนมผึ้งอยู่ในเซลล์แล้วประมาณ 79 มิลลิกรัม ภายใน 48 ชั่วโมง จะมีนมผึ้ง 244 มิลลิกรัม และ 72 ชั่วโมงจะมีนมผึ้ง 400 มิลลิกรัม ระยะที่ควรจะเก็บนมผึ้งควรจะอยู่ในระยะ 60-70 ชั่วโมง
8. เซลล์แต่ละเซลล์เฉลี่ยให้นมผึ้ง 200-250 มิลลิกรัม ดังนั้น นมผึ้ง 1 กิโลกรัม จะต้องเก็บนมผึ้งจากเซลล์มากถึง 4,000-5,000 เซลล์ ซึ่งโดยปกติในผึ้ง 1 รัง สามารถใส่เซลล์ตัวอ่อนได้ 200-300 เซลล์ และเก็บนมผึ้งได้ 40-50 กรัม
9. ควรเก็บนมผึ้งในตอนเช้าของแต่ละวันที่จะเป็นวันที่กำหนดเก็บนมผึ้ง เพราะจะได้นมผึ้งที่ฉ่ำสด ไม่ดูกระด้าง
10. นํ้าตาลที่ใช้เลี้ยงผึ้งในยามที่นํ้าหวานจากเกสรดอกไม้ขาดแคลนควรใช้นํ้าตาลขาว เพราะจะทำให้สีของนมผึ้งสวยและได้มาตรฐาน
11. ในกรณีที่มีเศษไขผึ้งติดปนอยู่ในนมผึ้ง ให้ใช้ผ้าไนล่อนขนาด 100 ต่อตารางนิ้ว กรองเอาเศษไขผึ้งออก
12. ปริมาณของนมผึ้งที่จะผลิตได้ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของผึ้งงานในแต่ละรังความสมบูรณ์ของเกสรดอกไม้ และหนอนในถ้วยผลิตมีอายุน้อย
13. เมื่อเก็บนมผึ้งได้แล้วควรจะต้องนำเข้าแช่เย็นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำ ได้ โดยจะต้องเก็บในตู้แช่แข็งอุณหภูมิตํ่ากว่า 0 องศาเซลเซียส เนื่องจากนมผึ้งจะเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็วถ้าถูกแสงแดดหรือเก็บไว้ใน อุณหภูมิปกติหรืออุณหภูมิห้อง
14. การเก็บนมผึ้งที่ดีและถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง การเก็บจะต้องระวังเกี่ยวกับอากาศ ความร้อน ไม่ควรใช้ภาชนะที่เป็นโลหะ แสง ความสะอาด ภาวะกรด และด่าง ขวดที่ใส่ควรใส่ให้เต็มเพื่อให้ช่องว่างของอากาศน้อยที่สุด แล้วปิดฝาให้สนิท จะต้องเก็บในอุณหภูมิตํ่า โดยทั่วไปอุณหภูมิอยู่ระหว่าง -5 ถึง -7 องศาเซลเซียส เหมาะสมที่สุด โดยถ้าเก็บอุณหภูมิ -2 องศาเซลเซียสจะเก็บได้นาน 1 ปี และถ้าเก็บในอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียสจะเก็บได้นานถึง 3 ปี


คุณภาพของนมผึ้ง
คุณภาพของนมผึ้งจะ มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของนมผึ้ง อายุของผึ้งงานที่เป็นตัวผลิตนมผึ้ง รวมทั้งวิธีการเก็บ เช่น เก็บจากรังผึ้งอ่อน หรือเก็บจากรังผึ้งนางพญา อายุของนมผึ้งว่าเก็บไว้นานหรือไม่ก่อนถึงมือผู้บริโภค ลักษณะการเก็บนมผึ้ง เช่น การเก็บในช่องแข็ง หรือนำมาผสมกับนํ้าผึ้งหรือสารอื่นๆ เป็นต้น

นอกจาก นมผึ้งจะต้องมีความบริสุทธิ์คือ ไม่มีสิ่งปลอมปน เช่น ตัวอ่อนหรือชิ้นส่วนของไขผึ้ง โลหะหนักจะต้องน้อยกว่า 5 ส่วนในล้านส่วน สารหนูต้องน้อยกว่า 1 ส่วนในล้านส่วน และต้องไม่พบยาปฏิชีวนะประเภทเตตตร้าซัยคลินในนมผึ้ง การเก็บนมผึ้งให้มีความคงตัวดีที่สุด ควรจะเก็บในรูปผงแห้งภายใต้ก๊าซไนโตรเจน นอกจากนี้อาจเก็บไว้ที่อุณหภูมิเยือกแข็ง แต่ถ้าเก็บไว้นานๆ สีของนมผึ้งจะเข้มข้นขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของ DECANOIC ACID ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีสารที่ยังค้นไม่พบว่าเป็นสารอะไรซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโต ของเพศในผึ้งนางพญาจะสูญเสียไปถ้านำนมผึ้งมาแช่แข็ง ยิ่งถ้านมผึ้งถูกอากาศมากสีจะยิ่งเข้มยิ่งขึ้น ความร้อนจะทำให้ คุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียของนมผึ้งลดลง และคุณค่านมผึ้งจะถูกทำลายได้โดยง่าย ถ้าผสมกับผงแลคโตส ดังนั้นจึงพอจะสรุปได้ว่า คุณภาพของนมผึ้งที่เก็บได้ใหม่ๆ และกรรมวิธีในการเก็บรักษาจะมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพของนมผึ้ง

กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นได้ควบคุมคุณภาพของนมผึ้งที่ผลิตออกจำหน่ายในทางยา โดยวางมาตรฐานของนมผึ้งไว้ดังนี้
1. ค่า pH อยู่ระหว่าง 3.5-4.5
2. ส่วนประกอบของไนโตรเจน 1.9%-2.5% ทดสอบโดยใช้ SEMI-MICRO KJEL- DAHL METHOD
3. ส่วนประกอบของนํ้าตาล 9%-13%
4. เถ้าน้อยกว่า 1.5%
5. ส่วนที่สกัดโดยใช้นํ้า 22%- 31%
6. ส่วนที่สกัดโดยใช้แอลกอฮอล์ 14%-22%



การลงทุนผลิตนมผึ้ง
ต้นทุน หรือเงินลงทุนในการผลิตนมผึ้งนั้นส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหา อุปกรณ์เครื่องมือในการเลี้ยงผึ้งและค่าจ้างแรงงานที่มีฝีมือ การผลิตนมผึ้งจะต้องใช้ผึ้งมากกว่า 100 รังขึ้นไป เนื่องจากผลผลิตต่อรังจำกัดในตัวเอง กล่าวคือ ในต่างประเทศ เก็บนมผึ้ง 1 กรัมได้จากเซลล์ผึ้ง 6 เซลล์ ในเวลา 4-6 สัปดาห์ สามารถเก็บนมผึ้งได้ 300 กรัม โดยใช้รังผึ้ง 30 รัง ส่วนในประเทศไทยจะผลิตนมผึ้งได้เพียงวันละ 1.5-3.3 กรัม ทุกรังผึ้ง 1 รัง โดยจะทำการเก็บทุกๆ 3 วัน และต้องใช้คนงาน 4-6 คน ดังนั้นเพื่อให้คงานมีงานทำทุกวัน จะต้องมีจำนวนรังอย่างน้อย 100 รัง นอกจากนี้จะต้องมีรถบรรทุกขนาดกลางเพื่อใช้เป็นพาหนะในการขนย้ายรังผึ้ง เข้าไปเลี้ยงในท้องที่ต่างๆ ที่มีอาหาร ได้แก่นํ้าหวานหรือนํ้าอ้อย และเกสรดอกไม้เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ตํ่าลง



ก่อน ทำการเลี้ยงผึ้งเพื่อผลิตนมผึ้ง ควรจะได้เริ่มต้นจากการเลี้ยงผึ้งเพื่อผสมเกสรและเก็บนํ้าผึ้งก่อน โดยเริ่มเลี้ยงผึ้งครั้งแรกเริ่มจากจำนวนรังไม่มากนัก เพื่อฝึกคนงานตลอดจนเจ้าของผึ้งเองด้วย หลังจากนั้นจึงค่อยขยายจำนวนรังในการพัฒนาการเลี้ยงแบบครบวงจร กล่าวคือ การผลิตนมผึ้งในปัจจุบันผู้เลี้ยงผึ้งจะทำการผลิตนมผึ้งในช่วงที่ไม่ใช่ฤดู นํ้าหวานนอง การทำการผลิตนมผึ้งเพื่อจุดประสงค์ที่จะลดค่าใช้จ่ายหรือหางานให้คนงานทำ ตลอดปีเพื่อรอฤดูนํ้าหวานนอง ซึ่งการผลิตนํ้าผึ้งต้นทุนจะตํ่ากว่าการเลี้ยงเพื่อผลิตนมผึ้ง



รูปแบบของนมผึ้งที่มีจำหน่ายในท้องตลาด
ปัจจุบัน นมผึ้งถือเป็นอาหารและยาชนิดใหม่ที่มีคุณค่าสูงและราคาแพงมาก ซึ่งตามความเชื่อของคนจีนโบราณเชื่อว่าถ้าต้องการมีอายุยืนยาวเหมือนผึ้ง นางพญาจะต้องกินนมผึ้ง นอกจากจะมีคุณสมบัติเป็นยาอายุวัฒนะแล้ว นมผึ้งยังมีคุณสมบัติทางเภสัชอีกมากมายดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้น รูปแบบของนมผึ้งที่มีจำหน่ายในท้องตลาดจึงมีหลายเแบบ ได้แก่
1. ผสมนํ้าผึ้งในหลอดยาฉีดสีชาบรรจุภายใต้ก๊าซไนโตรเจน

2. บรรจุในแคปซูล ประกอบด้วยนมผึ้งที่นำมาทำเป็นผงแล้ว โดยใช้วิธี FREEZE DRIED แล้วผสมกับผงแลคโตส

3. รับประทานสดๆ โดยเก็บในช่องแช่แข็ง

4. ผสมเครื่องสำอาง โดยในสหรัฐอเมริกาใช้นมผึ้ง 100-200 มิลลิกรัม ผสมครีมหนัก 30 กรัม ในยุโรปใช้นมผึ้ง 50-1,000 มิลลิกรัมผสมครีมหนัก 100 กรัม ส่วนฝรั่งเศสใช้นมผึ้ง 20-100 มิลลิกรัมผสมในครีม 100 กรัม


ที่มา:ส่วนวิจัยเกษตรกรรม ฝ่ายวิชาการ ธนาคารกสิกรไทย



ข้อมูลบริการ

GreenShopCafe.com ร้านสินค้าสุขภาพออนไลน์ ภายใต้แนวคิด "สินค้าสุขภาพ ออร์แกนิค ธรรมชาติ ปลอดเคมีอันตราย นวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"

จากแบรนด์ดีๆ มากมายหลายหลาก เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่ใส่ใจและเลือกสรรแต่สิ่งดีมีคุณภาพสำหรับตัวเองและครอบครัว

จ่ายผ่านบัตรบนระบบของ KTC ปลอดภัย 100%

GreenShopCafe ใช้ระบบตัดบัตรเครดิต KTC PayGate ของ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยระดับสากล การระบุข้อมูลบัตรที่จะกระทำบนระบบเซอร์เวอร์ของ KTC PayGate จึงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยสูงสุด และ GreenShopCafe ไม่เก็บเลขบัตรและข้อมูลบัตรเครดิตลูกค้าทั้งสิ้น

Credit Card Accept & Payment Gateway support by KTC PCL
© กรีนช็อปคาเฟ่ GreenShopCafe.com สงวนลิขสิทธิ์